แบนได้แบนไป ‘หัวเว่ย’ เปลี่ยนใช้ชิ้นส่วนที่ ‘จีน’ ผลิตได้เองกว่า 13,000 ชิ้น ตอบโต้สหรัฐฯ กีดกันเทคโนโลยี

หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ (Huawei Technologies) ได้นำชิ้นส่วนซึ่งผลิตได้ในจีนมาเปลี่ยนทดแทนชิ้นส่วนไฮเทคต่างๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ แล้วมากกว่า 13,000 ชิ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อ้างอิงจากคำพูดของ เหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย ซึ่งได้กล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจีนเมื่อเดือน ก.พ.

จากบทสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง (Shanghai Jiao Tong University) นำออกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์เมื่อวันศุกร์ (17 มี.ค.) เหริน ระบุว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้นำชิ้นส่วนที่พัฒนาขึ้นเอง หรือผลิตโดยบริษัทอื่นๆ ของจีนมาเปลี่ยนทดแทนชิ้นส่วนซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางเทคโนโลยีแล้วกว่า 13,000 ชิ้น และยังได้ออกแบบแผงวงจรพิมพ์ (circuit boards) ใหม่ถึง 4,000 ตัวเพื่อใช้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบริษัท

เหริน ยืนยันว่า กระบวนการผลิตแผงวงจรพิมพ์ของหัวเว่ยอยู่ในขั้น “มีเสถียรภาพ”

ถ้อยแถลงของ เหริน วัย 78 ปี ซึ่งเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและแม่ทัพคนสำคัญของหัวเว่ย สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมจีนที่จะเอาชนะมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ เพื่อเติบโตทางธุรกิจต่อไปได้ หลังจากที่ หัวเว่ย ซึ่งเป็นซัปพลายเออร์อุปกรณ์ 5G รายใหญ่ของโลกเริ่มถูกสหรัฐฯ ปิดกั้นการส่งออกชิ้นส่วนและเทคโนโลยีสำคัญๆ เรื่อยมาตั้งแต่ปี 2019

มาตรการกีดกันเหล่านี้ส่งผลให้หัวเว่ยไม่สามารถซื้อชิปจากผู้ผลิตในสหรัฐฯ และไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีของอเมริกาเพื่อออกแบบและสั่งผลิตชิปของตัวเอง

ล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ยังได้ออกคำสั่งห้ามจำหน่ายอุปกรณ์ใหม่ๆ ของหัวเว่ยในสหรัฐอเมริกาด้วย

เหริน กล่าวต่อบรรดาผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีของจีนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ว่า หัวเว่ยได้ทุ่มงบลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสูงถึง 23,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 “และในขณะที่บริษัทของเราเริ่มมีผลกำไรมากขึ้น เราจะยังคงทุ่มงบประมาณในด้านการวิจัยและพัฒนาต่อไป”

หัวเว่ยยังได้สร้างระบบวางแผนทรัพยากรของตนเองที่เรียกว่า MetaERP ขึ้นมา และเตรียมจะเปิดตัวในเดือน เม.ย. ซึ่งระบบนี้จะช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจหลักๆ ของหัวเว่ยทั้งในด้านการเงิน ห่วงโซ่อุปทาน และสายการผลิต

เหริน ยอมรับว่า หัวเว่ย ยังไม่มีแผนสร้างแชตบอตปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับ ChatGPT ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมล้นหลาม แต่ก็ย้ำว่า OpenAI ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแอปดังกล่าวจะไม่สามารถผูกขาดการเป็น “ผู้เล่นหลัก” ในตลาดได้ และหัวเว่ยมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ให้บริการ “แพลตฟอร์มประมวลผลเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีเอไอ”

ที่มา : รอยเตอร์

 

ติดตามเรื่องราวรอบโลกได้ที่  activeinksoftware.com